บานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นบนบานประตู หน้าต่างภายในพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นงานศิลปะชิ้นสำคัญที่สั่งทำจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อคราวผูกมหาสีมาเมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๘ ได้มีการสั่งทำบานประตูหน้าต่างมาประดับ เมื่อผ่านกาลเวลาเกิดความชำรุดเสื่อมสภาพตามกาลเวลา เชื้อรา แมลงกัดกินพื้นไม้ ฝุ่นคราบจากมลภาวะฝุ่นคัวน และจากยางรักที่ทาเคลือบไว้ที่เคยมีการพยายามซ่อมแซมมาทำให้เกิดความหมองคล้ำไม่สดใส ทางวัดราชประดิษฐ์มีความประสงค์ให้กรมศิลปากรดำเนินการอนุรักษ์ซ่อมแซม เพื่อให้เกิดสมบูรณ์สวยงาม และเสริมความมั่นคงแข็งแรง เป็นการส่งต่อมรดกทางศิลปวัฒนธรรมให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไปในอนาคต
ที่ผ่านมาได้ดำเนินการโครงการอนุรักษ์โบรณสถานภายในวัด จากสำนักสถาปัตยกรรมควบคุมการอนุรักษ์โบราณสถาน โดยกรมศิลปากรมีข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรกับสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น(Tokyo National Research Institute for Cultural Properties: TNRICP)ในการดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ร่วมดำเนินการสำรวจบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นบนบานประตู หน้าต่าง พบบานประตู ๓ คู่ บานหน้าต่าง ๑๖ คู่ ประกอบด้วยแผ่นไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นทั้งสิ้น ๗๖ แผ่น ชำรุด จำนวน ๖๔ แผ่น หลุดหาย ๑๒ แผ่น และแผ่นไม้ประดับรักลายนูน ทั้งสิ้น ๓๘ แผ่น ชำรุด ๓๐ แผ่น หลุดหาย ๘ แผ่น
การดำเนินงานในระยะที่ ๑ ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ ๒๕๕๖ - ๒๕๕๘ได้นำตัวอย่างบานไม้ประดับมุกที่ชำรุด ส่งออกอนอกราชอาณาจักรเพื่อไปศึกษารายละเอียดส่วนประกอบศิลปวัตถุ ณ สถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นTokyo National Research Institute for Cultural Properties
การดำเนินงานในระยะที่ ๒ ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๘ วัดราชประดิษฐได้ส่งตัวแทนจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกรมศิลปากร ๒ หน่วยงาน ประกอบด้วยกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และสำนักช่างสิบหมู่ รวมถึงตัวแทนจากโรงเรียนช่างฝีมือในวัง หน่วยละ ๒ รายรวมทั้งสิ้น ๖ รายเดินทางไปร่วมดำเนินการอนุรักษ์บานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น ณ สถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นTokyo National Research Institute for Cultural Properties
ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ ๓ ดำเนินการซ่อมอนุรักษ์บานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น พระวิหารหลวง. วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ. ๒๕๖๔ - ๒๕๖๘ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ อยู่ในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด - ๑๙ ทำให้ต้องมีการปรีบเปลี่ยนวิธีการดำเนินงาน และปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด การดำเนินงานหากพบประเด็นปัญหาในการทำงาน จะมีการประชุมทางไกลกับผู้เชี่ยวชาญ จากสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นTokyo National Research Institute for Cultural Properties ประเทศญี่ปุ่น เพื่อปรึกษาหาข้อสรุปเพื่อดำเนินงานเป็นระยะ ๆ ทั้งนี้ในปี ๒๕๖๔ ได้ดำเนินงานดังนี้
วัดราชประดิษฐฯ สำนักสถาปัตยกรรม และสำนักพิพิธภัณฑ์ดำเนินการจัดเตรียมสถานที่ เพื่อใช้ดำเนินงานการอนุรักษ์ ตามรูปแบบและมาตรฐาน สำนัดหอจดหมายเหตุดำเนินการบันทึกสภาพก่อนดำเนินการถอดบานไม้ ทั้งหมด ในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๔ ได้ทำพิธีบวงสรวงและดำเนินการถอดชิ้นงานเป็นปฐมฤกษ์โดยนายประทีป เพ็งตะโก (อธิบดีกรมศิลปากร) จากนั้นดำเนินการถอดบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นจำนวน ๑๙ แผ่น และแผ่นไม้ประดับรักลายนูน จำนวน ๘ แผ่น รวมทั้งสิ้น ๒๗ แผ่น การดำเนินงานโดยบุคลากรของที่ร่วมดำเนินการอนุรักษ์บานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น ณ สถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นTokyo National Research Institute for Cultural Properties เมื่อปี ๒๕๕๘ นำความรู้จากการดำเนินการดังกล่าวมาถ่ายทอดความรู้ให้คณะทำงาน และร่วมดำเนินการดังนี้ กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ดำเนินการในส่วน ตรวจสอบสภาพ ทำแผนผังแสดงลักษณะการเสื่อมสภาพ (mapping) อบฆ่าเชื้อรา ฆ่าแมลงในแผ่นไม้ เช็ดทำความสะอาดผิวชิ้นงาน สำนักช่างสิบหมู่ดำเนินการทดสอบวัสดุ เช่นกาวหนัง ยางรักสำหรับติด ผนึกเสริมความแข็งแรงด้วยเทคนิค shimbari และเติมส่วนที่หลุดล่อนให้ครบสมบูรณ์ จากการปฏิบัติงานในระยะแรกคณะทำงานได้ทดสอบ ทดลองหาแนวทางในการดำเนินงานการอนุรักษ์ ซ่อมแซมจนมีแนวทางในการดำเนินงาน และเกิดความเข้าใจในการทำงานมากขึ้นจะทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การทำงานที่สมบูรณ์และเร็วขึ้น
ในการดำเนินงานคณะทำงานได้ทำการบันทึกข้อมูลกระบวนการทำงาน ปัญหาอุปสรรค เพื่อรวบรวมข้อมูลจัดทำเป็นองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ ซ่อมแซมงานศิลปกรรมประเภทบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติงานต่อไปในอนาคต และจัดทำเป็นหนังสือองค์ความรู้เพื่อเผยแพร่ในลำดับต่อไป
ในปี ๒๕๖๔ ได้ซ่อมอนุรักษ์ชิ้นงานแล้วเสร็จบางส่วน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนงาน จึงควรนำชิ้นงานที่ซ่อมแล้วเสร็จติดผนึกกลับเพื่อถอดชิ้นงานชุดใหม่มาดำเนินงานการซ่อมต่อไป
การดำเนินงานโครงการอนุรักษ์ซ่อมแซมบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นในประเทศไทย พระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร ถือเป็นโครงการนำร่องที่จะเป็นแนวทางในการดำเนินงานการอนุรักษ์ซ่อมแซมบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นในประเทศไทยต่อไป การทำงานประสานความร่วมมือ แลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นถือเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติงานในการอนุรักษ์ซ่อมแซม ทำให้เกิดการเรียนรู้ ฝึกฝน อีกทั้งเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ ทักษะฝีมือในการปฏิบัติงานอันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมประเทศชาติ เกิดความร่วมมือทางด้านศิลปวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศนำไปสู่ความสัมพันธ์อันดีประเทศ ไทย-ญี่ปุ่นต่อไปในอนาคต