๑. การปรับแบบภาพร่างลายเส้น
ผู้ออกแบบภาพจิตรกรรมเรื่องมารผจญท่านแรก คือ นายเกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ จิตรกรชำนาญการพิเศษ และมีนายศักยะ ขุนพลพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตรกรรม (ณ ขณะนั้น) ดำเนินการปรับรายละเอียดตัวละครให้มีท่าทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ต่อจากนั้นจิตรกรดำเนินการปรับแบบลายเส้นให้คมชัดและใส่รายละเอียดของภาพในส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติมให้ภาพมีความสมบูรณ์ก่อนนำภาพต้นแบบไปเสก็ตสีเป็นลำดับต่อไป
เขียนลายเส้นภาพจิตรกรรมเรื่องมารผจญเพิ่มเติม
เพิ่มเนื้อหาในส่วนกองทัพมารที่กำลังจมน้ำ ฝั่งซ้ายของพระแม่ธรณีบีบมวยผม
แบบลายเส้นภาพจิตรกรรมเรื่องมารผจญ ผนังด้านหน้าพระประธาน ที่เขียนเนื้อหาเพิ่มเติมแล้วเสร็จ
บริเวณกึ่งกลางตอนบนเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนรัตนบัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์
เหนือขึ้นไปบนท้องฟ้าเป็นเทวดาและนางฟ้ามาสักการะพระพุทธเจ้า
ส่วนท้องฟ้าด้านบนฝั่งซ้าย เป็นภาพเทวดาและนางฟ้ามาสักการะพระพุทธเจ้า แทรกด้วยลายดอกไม้ร่วง
ส่วนท้องฟ้าด้านบนฝั่งขวา เป็นภาพเทวดาและนางฟ้ามาสักการะพระพุทธเจ้า แทรกด้วยลายดอกไม้ร่วง
ภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผมในท่าประทับยืนที่มีลีลาอ่อนหวานภายในซุ้มเรือนแก้ว
ด้านล่างเป็นภาพหน้ากาลกลืนกินพญานาค
บริเวณฝั่งขวาของภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผม ส่วนด้านบนเป็นภาพพญาวสวัตตีมารขี่ช้างคีรีเมขล์
และส่วนล่างเป็นกองทัพเหล่าพญามารที่พุ่งเข้าหาพระพุทธเจ้า
๒. การเสก็ตสีภาพจิตรกรรม
จิตรกรดำเนินการเสก็ตสีภาพจิตรกรรมเรื่องมารผจญด้วยสีอะคริลิคลงบนผ้าใบ ขนาดภาพ ๑๐๐ x ๑๑๐ เซนติเมตร เพื่อเป็นการกำหนดโทนสีที่ใช้บนภาพจิตรกรรมขนาดเท่าจริงต่อไป
ภาพเสก็ตสีเรื่องมารผจญ
๓. การขยายภาพร่างลายเส้นจิตรกรรมขนาดเท่าจริงลงบนผ้าใบขนาดใหญ่
นำภาพร่างลายเส้นจิตรกรรมเรื่องมารผจญไปขยายให้ได้ขนาดกว้างยาวตามฝาผนังจริงลงบนผ้าใบขนาดใหญ่ ขั้นตอนนี้เป็นการจ้างเหมาปริ้นลายเส้นภาพจิตรกรรมลงบนแคนวาส ซึ่งก่อนนำแคนวาสไปปริ้นลายเส้น จิตรกรได้ลงสีพื้นเบื้องต้นตามตำแหน่งที่กำหนดสีไว้ในภาพเสก็ตสี
๔. การเขียนโครงร่างสีส่วนรวมของภาพ
จิตรกรเขียนโครงร่างสีส่วนรวมของภาพจิตรกรรมทั้งหมด ก่อนเริ่มลงสีรายละเอียดส่วนของตัวภาพ การเขียนโครงร่างสีส่วนรวมเป็นการควบคุมระยะและมิติของภาพ โดยดูความต่อเนื่องของน้ำหนักสีในส่วนต่าง ๆ ไม่ให้มีจุดใดจุดหนึ่งโดดเด่นจนสะดุดตาออกมาเป็นพิเศษ ภาพจิตรกรรมทั้งหมดจึงดูมีความกลมกลืนเป็นเอกภาพเดียวกัน
๕. การเขียนสีในส่วนต่าง ๆ ของภาพ เช่น ธรรมชาติ สถาปัตยกรรม ภาพบุคคล ภาพสัตว์ เครื่องประดับ และส่วนประกอบอื่น ๆ
เนื่องจากจิตรกรรมฝาผนังวัดบูรพาภิราม จังหวัดร้อยเอ็ด ผู้เขียนแบบต้องการให้เป็นแนวทางของจิตรกรรมตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ครั้งเมื่อคราวที่กรมศิลปากรดำเนินการลอกจิตรกรรมฝาผนังออกและเขียนจิตรกรรมฝาผนังในพระพุทธรัตนสถาน ความว่า “...น้ำก็ให้เป็นระลอกแบบช่างโบราณเขียน เรือก็ให้มีธงทิวปัก หรือจะเขียนพระราชประวัติก็ให้มีลักษณะเหมือนจริง ฉลองพระองค์สวมอย่างเช่นที่ทรงในปัจจุบัน แต่ให้เป็นสองมิติตามลักษณะภาพไทย...” [ กรมศิลปากร, จิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถานตามแนวพระราชดำริ เล่ม ๒ จดหมายเหตุจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน รัชกาลที่ ๙, (กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๔๘), ๑๑.] ซึ่งกลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ ยังคงยึดถือปฏิบัติตามเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
๖. การเขียนสีทองอะคริลิค และปิดทองคำเปลวในส่วนสำคัญของภาพ
การเขียนสีทองอะคริลิคส่วนมากปรากฏอยู่ในเครื่องประดับของเหล่าเทวดาและนางฟ้าเป็นหลัก และอาจมีบางส่วนที่เครื่องประดับของเหล่าพญามารเผ่าพันธุ์นั้น ๆ ก่อนเริ่มเขียนสีทองอะคริลิคต้องร่างลายเส้นเครื่องประดับ เพื่อกำหนดขอบเขตในการทาสีรองพื้น เนื่องจากการลงสีทองอะคริลิคนั้นจำเป็นต้องรองพื้นด้วยสีเหลืองก่อนเสมอ ซึ่งจะทำให้สีทองที่ทาเป็นชั้นสุดท้ายออกมาสวยงามไม่จมหายไปกับบรรยากาศ
๗. การตัดเส้นเก็บรายละเอียดส่วนต่าง ๆ ของภาพ เช่น ธรรมชาติ สถาปัตยกรรม ภาพบุคคล ภาพสัตว์ เครื่องประดับ และส่วนประกอบอื่น ๆ
๗.๑ การเขียนลายผ้านุ่งเทวดา การเขียนลวดลายผ้าตามตัวผ้า ช่างสมัยโบราณมีหลักว่าภาพเขียนนั้นแต่งกายสีอะไร จะหาสีตรงข้ามกันมาใช้ หมายความว่า ถ้าภาพสีกายอยู่ในวรรณะเย็น สีลายผ้าควรอยู่ในวรรณะร้อน หากใช้สีเดียวกันกับที่ระบายเป็นผิวกายไว้มาตัดเป็นลวดลายผ้า จะเป็นภาพไม่ได้สวมเสื้อผ้า หรือผ้าขาดเห็นเนื้อภาพไปในที่สุด
๘. คณะกรรมการพิจารณา และตรวจสอบคุณภาพผลงาน
ระหว่างการดำเนินงานการเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องมารผจญ วัดบูรพาภิราม จังหวัดร้อยเอ็ด นายเกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ จิตรกรชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มจิตรกรรม เข้าควบคุมดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามคุณภาพที่วางไว้ พร้อมทั้งคอยชี้แนะจุดผิดพลาดให้จิตรกรเร่งแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้งานมีความสมบูรณ์ครบถ้วนมากที่สุด